Audio mixer part 4
เป็นตอนจบของเครื่องผสมสัญญาณเสียงครับ


แอนะลอกมิกเซอร์ที่เป็นแบบดั้งเดิม
          ถ้าหากคิดว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงที่เป็นแบบแอนะลอกเป็นของเก่าล้าสมัยและไม่ดีแล้วถือว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างมากเลย มีผู้คนเป็นอันมากที่ยังพึงพอใจกับการเลื่อนเฟดเดอร์และหมุนปุ่มปรับเพื่อให้ได้โทนเสียงอันอบอุ่น และอาการตอบสนองการทำงานอย่างทันใจด้วยการปรับแต่งเพียงปุ่มสองปุ่ม มันปราศจากเมนูหรือว่าคำสั่งการทำงานที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนที่ต้องกระทำก็เพียงแค่เลื่อนเฟดเดอร์และปรับหมุนปุ่มเพื่อควบคุมระดับแรงดันของสัญญาณเสียงที่วิ่งไปตามสายเท่านั้นเอง
          การจัดแบ่งกลุ่มของเครื่องแบบแอนะลอกได้สองกลุ่มใหญ่คือ หนึ่งตามจำนวนช่องสัญญาณ และสองตามจำนวนของบัสสัญญาณ ดังนั้นเราจะพบว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงส่วนใหญ่เกือบทุกรุ่นจะเป็นหมายเลขที่บ่งบอกข้อมูลดังกล่าว ตัวอย่างเช่นถ้าเขียนว่า 32-8 ก็หมายความว่ามีช่องต่อสัญญาณขาเข้าจำนวน 28 ช่องและมีจำนวนของบัส 8 บัส และในบางรุ่นก็จะมีตัวเลขชุดที่สามติดมาด้วยซึ่งเป็นการระบุถึงจำนวนช่องสัญญาณขาออกหลัก (master output) ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการจัดหานำมาใช้งานเราจำเป็นต้องศึกษาคุณลักษณะทางเทคนิคให้ละเอียดเสียก่อน
ประเภทของแอนะลอกมิกเซอร์
1)      ประเภทมีแปดบัสสัญญาณ ถ้างานที่ต้องการบันทึกเสียงวงดนตรีทั้งวงในห้องสตูดิโอจำเป็นต้องใช้ไมโครโฟนเป็นจำนวนมากและในขณะบันทึกยังต้องฟังเสียงไปพร้อมกันด้วย ในกรณีเช่นนี้เราจำเป็นต้องส่งเสียงเป็นมอนิเตอร์ไปยังทีมงานทุกคนอีกด้วย เครื่องผสมสัญญาณเสียงที่มีจำนวนบัสแปดบัสจะเหมาะสมต่องานประเภทนี้ที่สุด สำหรับจำนวนของช่องต่อสัญญาณขาเข้าขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณและความเหมาะสม อาจเริ่มต้นจาก 24 – 48 ช่องสัญญาณ
2)      ประเภทที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับสัญญาณดิจิตัล เครื่องผสมสัญญาณเสียงชนิดนี้ภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้แตกต่างจากเครื่องชนิดแอนะลอกทั่วไปแต่จะมีจุดเชื่อมต่อประเภทยูเอสบีหรือไฟร์ไวร์เข้ากับอุปกรณ์แบบ DAW (digital audio workstation) มาให้ด้วย การเชื่อมต่อที่ว่านี้มีตั้งแต่แบบพื้นฐานจำนวนสองช่องไปจนระบบใหญ่ๆทีเป็นหลายช่องสัญญาณทั้งเข้าและออก
3)      ประเภทมีสี่บัสสัญญาณ หมายถึงตัวเครื่องแบบนี้มีเส้นทางให้เลือกเพียงสี่กลุ่มย่อย (sub or group outs) นอกจากนี้ก็ยังมีสัญญาณขาออกหลัก (main or program outs) และอีกอย่างคือสัญญาณเสียงสำหรับห้องควบคุม (control room outs)  ระบบช่องทางของบัสเอื้อประโยชน์สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกแต่เรายังสามารถใช้ช่องทางอื่นทีมีอีกเช่นไดเร็คเอาท์ ช่อง insert and send ให้เลือกใช้อีกด้วย
4)      ประเภท 2+2 บัสสัญญาณ สำหรับการทำงานที่ไม่ซับซ้อนหรือมีการบันทึกเสียงจากแหล่งสัญญาณเสียงไม่มากนัก เครื่องแบบที่มีกลุ่มบัสย่อยเพียงสองช่องบวกกับช่องโปรแกรมหลักอีกสองช่องก็พอเพียงแล้ว เครื่องประเภทนี้มักมีช่องสัญญาณขาเข้าไม่มากนักตั้งแต่ 4 – 12 ช่อง
5)      ประเภทสเตอริโอมิกเซอร์ เครื่องแบบนี้เป็นประเภทที่ไม่มีบัสย่อยให้มีเพียงช่องทางของสัญญาณขาออกหลักสองช่องแบบสเตอริโอซ้ายขวา (L+R) เท่านั้น  อย่างไรก็ดีมันสามารถปรับแต่งผสมเสียงสัญญาณขาเข้าและปรับแต่งสัญญาณขาออกได้ระดับหนึ่ง
6)      ประเภทติดตั้งอยู่บนตู้แรค เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบนี้มักมีขนาดเล็กกะทัดรัดที่ไม่ค่อยมีจุดให้ปรับแต่งเสียงได้มากนักและมีช่องสัญญาณขาเข้าจำนวน 4 – 8 ช่อง ส่วนใหญ่ใช้ทำงานในระบบเสียงย่อยๆหรืองานชนิดที่ไม่จำเป็นต้องปรับกันบ่อย 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การถ่ายทอดสดนอกสถานที่(Outside Broadcasting)

ห้องผลิตรายการโทรทัศน์และฉากเสมือนจริง (TV studio and Virtual studio)