แนวทางการเขียนคุณสมบัติทางเทคนิค

เนื้อหาทั้งหมดประกอบด้วย

          1 คำนำ
          2 กฎเกณฑ์ที่จำเป็น
          3 ตัวอย่างข้อกำหนดทางเทคนิค
          4 ข้อมูลอื่นๆที่จำเป็น
          5 เงื่อนไขของการทำสัญญา
คำนำ
            ข้อมูลทีนำเสนอต่อไปนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นสำหรับการกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคที่เหมาะสมสำหรับการประมูลเพื่อจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือในโครงการต่างๆ  และที่สำคัญก็คือการเขียนคุณสมบัติทางเทคนิคต้องเป็นไปตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของทางราชการด้วย
            เพื่อให้การทำงานบรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างสมบูรณ์  ผู้เขียนคุณสมบัติทางเทคนิคจำเป็นต้องระมัดระวังและทำความเข้าใจถึงระเบียบปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการก่อนที่จะเริ่มต้นกำหนดรายการอุปกรณ์และรายละเอียดทางเทคนิค
กฎเกณฑ์ทั่วไป
            1) ต้องให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การกำหนดคุณสมบัติจำเป็นต้องเขียนให้มีผู้จำหน่ายอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งรายที่สามารถตอบสนองความต้องการนั้นๆได้  ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการเพิ่มการแข่งขันและย่อมมีผลทำให้เจ้าของโครงการได้ประโยชน์คุ้มค่าจากมูลค่าของเงินที่ต้องจ่ายเพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง
            2) ข้อกำหนดต้องชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ข้อกำหนดต้องรัดกุมเหมาะสม  เพราะว่ามันเป็นเรืองของการประมูลราคา  และถ้าหากว่าข้อกำหนดไม่ชัดเจนหรือมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่จำเป็นที่อาจเป็นการกำหนดให้เข้ากับผู้จำหน่ายรายใดเป็นการเฉพาะแล้ว  ย่อมมีผลทำให้จำนวนผู้ที่จะเข้าแข่งขันประกวดราคาลดลงและเป็นเหตุให้เจ้าของโครงการได้รับสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ  นอกจากนี้การเขียนคุณสมบัติเทคนิคที่ไม่ชัดเจนยังก่อให้เกิดความสับสนของผู้เข้าร่วมการประมูลเป็นเหตุให้ไม่สนใจที่จะยื่นประมูลอีกด้วย  ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นสาเหตุให้การจัดซื้อจัดจ้างต้องล่าช้าออกไปหรืออาจจำเป็นต้องกลับไปเริ่มการประมูลกันใหม่ทั้งหมด
            3) ภาษาที่ใช้ ควรใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่ถ้าในกรณีที่เป็นชื่อเฉพาะหรือว่าเป็นคำศัพท์ทางเทคนิคควรมีวงเล็บที่เป็นภาษาอังกฤษกำกับ  ทั้งนี้การเขียนควรอ้างอิงจากหนังสือคู่มือของราชบัณฑิตสภาเป็นหลัก
            4) หน่วยนับของการวัด ถ้าเป็นไปได้ควรใช้หน่วยนับหรือการวัดระบบเมตริก
          5) หมายเลขรหัสของรายการ ควรกำหนดหมายเลขรหัสประจำตัวของสินค้าหรืออุปกรณ์ที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างในการประมูลนั้นๆ เพื่อให้เป็นการสะดวกต่อการอ้างอิงและไม่ก่อให้เกิดความสับสน
            6) รูปแบบการเขียน ข้อกำหนดทางเทคนิคจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนเป็นรายการ  เริ่มต้นด้วยคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของอุปกรณ์นั้นก่อน  แต่ละรายการควรจำกัดเฉพาะคุณสมบัติด้านต่างๆเป็นข้อไป  แต่ละข้อควรเรียงลำดับกันไปตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งจนกระทั่งลำดับสุดท้าย
            7) หลีกเลี่ยงรายละเอียดที่ไม่จำเป็น กำหนดเฉพาะคุณสมบัติทีสำคัญและจำเป็นเท่านั้น  กำหนดว่าคุณสมบัติด้านใดที่ต้องการและควรนำมาประเมินผล  ตัวอย่างเช่นเราไม่จำเป็นต้องกำหนดน้ำหนักของอุปกรณ์ประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์  ถึงแม้ว่ามันจะมีปรากฏอยู่ในรายการของบริษัทผู้ผลิตทุกรายก็ตาม  เนื่องจากว่ามันไม่ได้เป็นตัวประกอบที่สำคัญของการตัดสินใจสั่งซื้อ  ควรระบุว่าเป็นประเภทตั้งโต๊ะหรือประเภทพกพามากกว่า
            8) ใช้วิธีการเขียนเชิงเทคนิค  โดยปกติแล้วมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเขียนข้อกำหนดทางเทคนิคโดยปราศจากการใช้คำศัพท์ทางเทคนิคของโรงงานผู้ผลิต  หรือในบางกรณีก็อาจจะทำได้แต่มีความเสี่ยงที่จะไม่ถูกต้องสูง  ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับกันได้ที่จะใช้คำศัพท์ทางเทคนิคของโรงงานผู้ผลิต  แต่มีจุดที่ต้องระมัดระวังดังต่อไปนี้
            ก) ใช้คำศัพท์ทางเทคนิคเท่าที่จำเป็นเพื่อการอ้างอิงเท่านั้น  และถ้าจำเป็นต้องใช้ควรหลีกเลี่ยงการผูกมัดข้อกำหนดที่เป็นเหตุให้มีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว  ทำการตรวจสอบข้อกำหนดที่ได้เขียนไปแล้วว่ามีความเป็นกลางให้ผู้จำหน่ายอื่นๆเข้ามาแข่งขันได้หรือไม่
            ข) อย่าเขียนคุณสมบัติทางเทคนิคทุกรายการที่มีจากโรงงานผู้ผลิต  เอาเฉพาะรายการที่สำคัญจริงๆเท่านั้น
            ค) อย่ากำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคตามที่ผู้ผลิตให้มา  ยกเว้นในกรณีที่เป็นมาตรฐานสากลเท่านั้น   ตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทผู้ผลิตระบุว่าเครื่องยนต์มีขนาดกำลัง 2325 วัตต์ เราอาจระบุในข้อกำหนดว่าเครื่องยนต์มีขนาดกำลังไม่น้อยกว่า 2300 วัตต์
            ง) ควรระมัดระวังเมื่อมีการใช้ข้อมูลจากผู้ผลิตหลายราย  ควรหลีกเลี่ยงการนำเอาคุณสมบัติทางเทคนิคมารวมกันเพราะอาจทำให้ไม่มีผู้ผลิตรายใดมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดทุกข้อได้
            จ) จำไว้เสมอว่าคุณสมบัติทางเทคนิคที่มาจากผู้ผลิตได้ถูกเตรียมไว้เพื่อการขาย  จำเป็นต้องแก้ไขให้เหมาะสมเพื่อสะท้อนถึงคุณลักษณะทางเทคนิคที่ต้องการออกมา
          9) แถลงการณ์ที่เป็นนามธรรม  ไม่สมควรนำมาใช้เช่นคำว่า “คุณภาพสูง” หรือ “ใช้งานได้ดีและง่ายดาย” เป็นต้น  คุณสมบัติทางเทคนิคของอุปกรณ์จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและจับต้องได้  ดังนั้นสิ่งที่เป็นนามธรรมจึงมีความหมายกว้างไกลเกินไปและยากที่จะหาข้อยุติ
            10) ข้อกำหนดทางเทคนิคควรไม่ถูกจำกัดขอบเขต หรือถูกผุกมัดเงื่อนไขแต่เป็นข้อสรุปที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเด็ดขาดมากกว่า  หมายความว่าวัตถุประสงค์ของการเขียนข้อกำหนดคุณลักษณะทางเทคนิคเป็นการอธิบายความต้องการไปยังผู้จัดจำหน่าย  แม้กระทั่งวัตถุสิ่งของทั่วไปเช่นเก้าอี้ก็ยังต้องระบุถึงข้อกำหนดคุณลักษณะเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาประมูลได้ทราบว่าผลิตจากพลาสติก ไม้หรือโลหะ มีที่พักแขน ปรับสูงต่ำ มีล้อด้วยหรือไม่ เป็นต้น ถ้าหากว่าเราไม่ได้ให้รายละเอียดที่มากพอผู้เข้าประมูลอาจสับสนและนำเสนอเก้าอี้ชนิดถูกที่สุดมาให้(ถูกที่สุดและต้องตรงตามข้อกำหนดด้วย)
            ในขณะเดียวกันข้อกำหนดทางเทคนิคก็ไม่ควรมีรายละเอียดมากจนเกินไปทำให้จำกัดผู้เข้ามายื่นประมูลโดยไม่จำเป็น  นับว่าเป็นเรื่องสำคัญในข้อที่ว่ายิ่งมีผู้เข้ามาแข่งขันการประมูลมากรายก็ย่อมทำให้ผู้ซื้ออุปกรณ์เพิ่มโอกาสที่จะได้ของตรงความต้องการด้วยราคาดีที่สุด
            โดยภาพรวมแล้วข้อกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคจำเป็นต้องมีรายละเอียดพอเพียงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้เข้ามาประมูลเกิดข้อกังขาว่าอะไรคือความต้องการของผู้ซื้อ  แต่ก็ควรเป็นกลางพอให้มีผู้ผลิตหลายรายเข้ามาแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม
            11) ขนาดหรือน้ำหนัก ในบางกรณีเรื่องของขนาดและน้ำหนักอาจเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดคุณลักษณะ  ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นรถยกที่จำเป็นต้องระบุถึงน้ำหนักสูงสุด  หรือในกรณีของขนาดจอภาพที่จำเป็นต้องกำหนดขนาด  แต่ถ้าเป็นเครื่องรับโทรทัศน์โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องกำหนดน้ำหนัก
            12) รุ่นและโรงงานผู้ผลิต ถ้าหากในกรณีที่จำเป็นต้องจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อให้เข้ากันได้กับระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว  สามารถทำการกำหนดรุ่นและผู้ผลิตได้  เช่นในกรณีของการซื้อโปรแกรมการทำงานด้านข้อมูลข่าวสาร  ตัวอย่างเช่นการกำหนดระบบปฏิบัติการหรือโปรแกรมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เข้ากับระบบเดิมที่มีอยู่แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้  แต่คุณไม่สามารถระบุโรงงานผู้ผลิตได้  อย่างไรก็ดีคุณสามารกำหนดรูปแบบของตัวประเมินผลได้  ดังนั้นเราสามารถที่จะระบุว่าเป็นเครื่องพีซีหรือว่าเป็นเครื่องแมคอินทอชย่อมกระทำได้
            13) อุปกรณ์ประกอบการใช้งาน  ทั้งประเภทที่ติดมากับเครื่องตามมาตรฐานและอุปกรณ์เสริมพิเศษจำเป็นต้องระบุเอาไว้ท้ายสุดของข้อกำหนดคุณลักษณะ  มันไม่เป็นที่ยอมรับกันถ้าเขียนไว้แต่เพียงว่า “อุปกรณ์ประกอบการใช้งานและอุปกรณ์เสริมครบ” เพราะว่าแต่ละโรงงานผู้ผลิตมีชุดอุปกรณ์ที่แตกต่างกันไปและนี่อาจเป็นสาเหตุให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
3 ตัวอย่างการกำหนดคุณลักษณะ
          เริ่มจากตัวอย่างการเขียนที่ไม่ดีก่อน
          สว่านแบบตั้งโต๊ะ
            รายละเอียดทั่วไป
            1] สว่านแบบตั้งโต๊ะ
            2] เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่เชื่อถือได้
            รายละเอียดทางเทคนิค
            3] ขับเคลื่อนด้วยสายพานปรับความเร็วได้สี่ระดับ
            4] ตัวแท่นรองรับชิ้นงานสามารถยกขึ้นลงและสามารถเอียงได้ 0-45 องศาและสามารถเบนออก
                 ด้านข้างได้
            5] ตัวแท่นรองรับชิ้นงานมีขนาดยาว 476 มม กว้าง 178 มม
            6] มีระยะห่างจากหัวสว่านถึงพื้นเป็น 632 มม
            7] ใช้กับดอกสว่านขนาดไม่น้อยกว่า 13 มม
            8] มอเตอร์มีขนาดกำลัง 0.320 แรงม้า
            9] ใช้กับไฟฟ้า 220 โวลต์ 50 เฮิรตซ์  1 เฟส
            10] มีหัวจับดอกสว่านและประแจขันหัว
            11] มีดอกสว่านครบชุด
            อุปกรณ์เสริม
            12] มีประแจหนึ่งชุด
            13] มีอุปกรณ์ประกอบการใช้งานและอุปกรณ์เสริมครบ
            14] ทำในประเทศยุโรป
            15] มีอะไหล่จำหน่ายในประเทศไทย
            16] รับประกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
            ต่อไปนี้เป็นคุณลักษณะที่แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว
          สว่านแบบตั้งโต๊ะ
            รายละเอียดทั่วไป(ตัดออกได้เลยไม่จำเป็นต้องเขียน)
            1] สว่านแบบตั้งโต๊ะ (ตัดออกไปเลยมีแล้วที่ชื่ออุปกรณ์)
            2] เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่เชื่อถือได้ (ตัดออกเพราะไม่สามารถประเมินได้)
            รายละเอียดทางเทคนิค (ตัดออกเพราะไม่จำเป็น)
            3] ขับเคลื่อนด้วยสายพานปรับความเร็วได้สี่ระดับ
            4] ตัวแท่นรองรับชิ้นงานสามารถยกขึ้นลงและสามารถเอียงได้ 0-45 องศาและสามารถเบนออก
                 ด้านข้างได้
            5] ตัวแท่นรองรับชิ้นงานมีขนาดยาว 476 มม กว้าง 178 มม (ควรเขียนว่าไม่น้อยกว่า450มม และไม่น้อยกว่า 150 มม )
            6] มีระยะห่างจากหัวสว่านถึงพื้นเป็น 632 มม (ควรเขียนไม่น้อยกว่า 600 มม)
            7] ใช้กับดอกสว่านขนาดไม่น้อยกว่า 13 มม
            8] มอเตอร์มีขนาดกำลัง 0.320 แรงม้า (ควรเขียนไม่น้อยกว่า 0.3 แรงม้า)
            9] ใช้กับไฟฟ้า 220 โวลต์ 50 เฮิรตซ์  1 เฟส (น่าจะนำไปไว้รายละเอียดทั่วไป)
            10] มีหัวจับดอกสว่านและประแจขันหัว
            11] มีดอกสว่านครบชุด
            อุปกรณ์เสริม
            12] มีประแจหนึ่งชุด
            13] มีอุปกรณ์ประกอบการใช้งานและอุปกรณ์เสริมครบ (ทั้งข้อ 11,13 เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน)
            14] ทำในประเทศยุโรป (ควรนำไปไว้ที่รายละเอียดทั่วไป)
            15] มีอะไหล่จำหน่ายในประเทศไทย (นำไปไว้ที่เงื่อนไขของสัญญา)
            16] รับประกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (นำไปไว้ที่เงื่อนไขของสัญญา)
            หลังจากแก้ไขแล้วคุณลักษณะทางเทคนิคควรมีดังนี้
          สว่านแบบตั้งโต๊ะ
          1] ขับเคลื่อนด้วยสายพานปรับความเร็วได้สี่ระดับ
            2] แท่นวางชิ้นงานสามารถยกขึ้นลงและปรับเอียงได้ 0-45 องศา และเบนออกด้านข้างได้
            3] แท่นวางชิ้นงานมีขนาดยาวไม่น้อยกว่า 450 มม กว้างไม่น้อยกว่า 150 มม
            4] มีระยะห่างจากดอกสว่านถึงพื้นไม่น้อยกว่า 600 มม
            5] สามารถใช้กับดอกสว่านขนาดไม่น้อยกว่า 13 มม
            6] ขนาดกำลังของมอเตอร์ไม่น้อยกว่า 0.3 แรงม้า
            7] มีหัวจับดอกสว่านและประแจหมุน
            8] มีดอกสว่านจำนวน 7 ชุด
            9] มีชุดประแจซ่อมบำรุงหนึ่งชุด


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การถ่ายทอดสดนอกสถานที่(Outside Broadcasting)

ห้องผลิตรายการโทรทัศน์และฉากเสมือนจริง (TV studio and Virtual studio)