เครื่องผสมสัญญาณเสียงตอนที่สอง

ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องผสมสัญญาณเสียง
1)      Pan pot มาจากคำเต็มว่า “panoramic potentiometer” ใช้ทำหน้าที่กำหนดตำแหน่งของเสียงจากด้านซ้ายไปจนถึงด้านขวาในระบบเสียงแบบสเตอริโอ
2)      Mute / solo buttons ปุ่มกดเอาไว้สำหรับเลือกที่จะฟังหรือว่าไม่ฟังเสียงของช่องนั้นๆเพียงช่องเดียวแล้วแต่ว่าจะฟังจากลำโพงหรือหูฟังโดยไม่มีผลกระทบกับเสียงช่องอื่นๆ
3)      Routing buttons เป็นสวิทช์เอาไว้เลือกเส้นทางของสัญญาณเสียงว่าต้องการให้สัญญาณผ่านไปออกที่บัสไหน ตามปกติจะมีสี่หรือแปดบัสขึ้นอยู่กับการออกแบบ
4)      Fader เป็นตัวปรับระดับของสัญญาณที่เลื่อนขึ้นลงตามต้องการของแต่ละช่องมาจากคำว่า”fading in or fading out”มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือทีตัวเฟดเดอร์จะมีสเกลบอกระดับไว้ที่ประมาณสามในสี่ส่วนว่าเป็นระดับศูนย์วียู หมายถึงว่าสัญญาณขาออกจะมีระดับเท่ากับสัญญาณขาเข้าแต่ถ้าเลื่อนขึ้นหรือลงก็หมายถึงทำให้สัญญาณมีระดับสูงหรือต่ำกว่าที่เข้ามา
5)      Channel หมายถึงสัญญาณเสียงแต่ละช่องทางที่เข้ามายังแต่ละเฟดเดอร์ และแต่ละแชนเนลอาจมีสวิทช์เอาไว้เลือกชนิดของสัญญาณว่าเป็นไมโครโฟนหรือไลน์ ตามมาด้วยปุ่มปรับระดับของสัญญาณทีเรียกว่า trim ต่อมาก็เป็นปุ่มปรับเสียงทุ้มแหลมที่เรียกว่า EQ (equalization) ที่ตัวแชนเนลจะมีส่วนของการส่งสัญญาณเสียงไปยังอุปกรณ์ทำเอฟเฟ็คหรือว่าอาจส่งไปยังอุปกรณ์ปลายทางอื่นใดก็ได้ ตรงจุดนี้จะเรียกว่า send ลำดับสุดท้ายของแชนเนลเป็นปุ่มกดเลือกเส้นทางของสัญญาณที่เรียกว่า bus or routing ทำหน้าทีส่งสัญญาณเสียงจากแชนเนลไปยังบัสต่างๆ
6)      Bus หมายถึงเส้นทางของสัญญาณเสียงที่มาจากแต่ละแชนเนลมารวมกันโดยมีตัวเฟดเดอร์ของแต่ละบัสก่อนจะส่งไปยังตัวปรับสัญญาณขาออกปลายทาง (master fader) หรือว่าจะส่งต่อไปยังอุปกรณ์อื่นๆก็ได้ นอกจากนี้เรายังสามารถป้อนสัญญาณจากบัสกลับเข้าสู่แชนเนลใดๆที่ว่างอยู่ก็ได้ บนเครื่องผสมสัญญาณเสียงที่มีระบบบัสแต่ละแชนเนลจะมีปุ่มกดให้เลือกส่งสัญญาณไปยังบัสใดๆก็ได้ และจะมีบัสหลักที่เรียกว่า main bus (L / R)  ตามปกติแล้วการใช้งานบัสมีไว้เพื่อจัดแยกสัญญาณเสียงจากแหล่งกำเนิดไว้เป็นกลุ่มย่อยหรือในกรณีทีบางแชนเนลจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทำเอฟเฟ็คแตกต่างกัน ในบางกรณีทีต้องการบันทึกเสียงแบบเซอร์ราวด์ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานที่ต้องการ
7)      Channel insert คือการกำหนดเส้นทางของสัญญาณเสียงให้ออกจากตัวแชลเนลไปยังอุปกรณ์อื่นก่อนแล้วย้อนกลับมาเข้าที่ตัวเฟดเดอร์เดิม เป็นการทำเอฟเฟ็คพิเศษเฉพาะตัวของแชลเนลนั้นๆ เช่นอาจเป็นตัว compressor , outboard EQ , sound processor หรืออาจต่อไปยังจุดเชื่อมต่อที่เรียกว่า patch bay เพื่อเอาไว้เชื่อมต่ออุปกรณ์ใดก็ตามพึงระลึกไว้ว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงสามารถเชื่อมต่อและกำหนดหน้าทีการทำงานได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้
8)      Balanced input and output เครื่องผสมสัญญาณเสียงที่มีจุดต่อแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นชนิด XLR หรือ ¼ TRS ก็ตามย่อมทำให้สามารถต่อสายสัญญาณได้ไกลมากขึ้นโดยที่ไม่เกิดเสียงฮัมหรือสัญญาณรบกวน แต่ถ้าเป็นเครื่องขนิดที่ใช้จุดต่อเข้าออกแบบอันบาลานซ์แล้วจำเป็นต้องใช้สายที่สั้นลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว สำหรับเครื่องผสมสัญญาณที่มีจุดต่อชนิดบาลานซ์นั้นจะสามารถยอมรับการเชื่อมต่อแบบอันบาลานซ์ได้อยู่แล้วดังนั้นถ้าอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อเป็นแบบอันบาลานซ์ก็สามารถนำมาต่อเข้ากับมันได้เลยแต่ไม่สามารถใช้สายยาวมากได้
9)      Send and return หมายถึงเส้นทางของสัญญาณทีส่งออกและนำกลับมายังเครื่องผสมสัญญาณเสียงของแต่ละแชลเนล โดยแต่ละแชลเนลจะสามารถส่งได้ตั้งแต่สองถึงหกเส้นทางขึ้นอยู๋กับการออกแบบและแต่ละเส้นทางมีปุ่มให้ปรับระดับของสัญญาณที่ต้องการส่งไปยังอุปกรณ์อื่นๆ และด้วยการใช้วิธีการเช่นนี้ทำให้สามารถแยกส่งสัญญาณแต่ละชุดไปยังผู้ทีมีส่วนร่วมในการบันทึกเสียงหรืองานการแสดงสดได้รับฟังเฉพาะสิ่งที่ต้องการฟังได้ หรือในกรณีที่ต้องการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ทำเอฟเฟ็คแล้วย้อนกลับมาเข้าเครื่องผสมสัญญาณเสียงทีจุดต่อของ return แล้วนำไปผสมกับแหล่งเสียงอื่นก็สามารถทำได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่ที่การสร้างสรรค์ว่าต้องการทำอะไรกับมัน ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องนำสัญญาณกลับมาแต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องนำเอาสัญญาณนั้นกลับมาเข้าที่อีกแชลเนลหนึ่งเพื่อทำการปรับแต่งเสียงทุ้มแหลมหรือปรับระดับของสัญญาณด้วยตัวเฟดเดอร์อีกที นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ return ให้มีหน้าที่เสมือนเป็นช่องทางสัญญาณขาเข้าก็ได้เพื่อเอาไว้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงอื่นๆเช่นเครื่องเล่นซีดี แผ่นเสียง คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

คราวหน้าเป็นเรื่องของดิจิตัลมิกเซอร์ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การถ่ายทอดสดนอกสถานที่(Outside Broadcasting)

ห้องผลิตรายการโทรทัศน์และฉากเสมือนจริง (TV studio and Virtual studio)