การเลือกใช้เครื่องผสมสัญญาณเสียง
อันนี้เป็นการรวมทั้งสี่ตอนมาไว้ด้วยกันและได้ปรับปรุงแก้ไขข้อความบางตอนให้ถูกต้องแล้ว
เครื่องผสมสัญญาณเสียง(Audio
Mixer)
ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ควรทราบก่อนที่จะเลือกเครื่องผสมสัญญาณเสียงเพื่อนำมาใช้งานและหวังว่าผู้ที่อ่านบทความนี้แล้วสามารถทำความเข้าใจและมีความรู้พอที่จะตัดสินใจได้ว่าอุปกรณ์ชนิดไหนที่ตอบสนองตรงต่อความต้องการและนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การทำความเข้าใจกับเครื่องผสมสัญญาณเสียงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
เนื่องจากว่าตัวมันเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทางเสียงทั้งหมดในห้องสตูดิโอและยังทำหน้าที่ใช้ควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเสียงแทบทั้งหมดอีกด้วย
เครื่องผสมสัญญาณเสียงทำหน้าที่อะไร
เครื่องมิกเซอร์หรือแผงควบคุมการผสมเสียงหรือแผงคอนโซลมีความหมายเดียวกัน เป็นอุปกรณ์ที่ยอมให้เราสามารถปรับแต่ง กำหนดตำแหน่งของเสียงในระบบสเตอริโอ ทำเอฟเฟ็คและชดเชยระดับเสียงที่แตกต่างกันจากหลายๆแหล่งเพื่อให้ได้รับคุณภาพเสียงโดยรวมออกมาดีที่สุด
และทั้งหมดนี้เรียกว่าการผสมเสียง
เราสามารถเพิ่มเอฟเฟ็คบางอย่างเข้าไปในบางช่องทางของแหล่งเสียงได้แต่ไม่ใช่ทุกช่องทาง สามารถปรับตำแหน่งเสียงของเครื่องดนตรีบางชิ้นในระบบเสียงแบบสเตอริโอ
กำหนดเส้นทางให้กับสัญญาณเสียงขาออกไปยังอุปกรณ์ปลายทาง
หรือทำการปรับเสียงทุ้มแหลมของแต่ละช่องทางสัญญาณขาเข้าและขาออก
หรืออาจใช้งานเพื่อการบันทึกเสียงแบบแยกช่องการบันทึกหลายช่องพร้อมกันที่เรียกว่า multi
track
ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วย่อมเห็นได้ว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงทำหน้าทีเป็นศูนย์กลางของอุปกรณ์ในระบบเสียงทั้งหมด
แต่ทว่าถ้าเรามาดูที่ตัวผลิตภัณฑ์เครื่องผสมเสียงในตลาดแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องผสมเสียงที่ผลิตออกมาจำหน่ายจะแบ่งเป็นสี่กลุ่มใหญ่ด้วยกันคือ
เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบแอนะลอก เครื่องประเภทนี้สัญญาณเสียงที่มาถึงช่องทางขาเข้าจะถูกนำมารวมกันแล้วส่งต่อไปยังอุปกรณ์ปลายทาง
แบบที่สองอาจจะเรียกได้ว่า “แบบไม่ต้องใช้เครื่องผสมสัญญาณเสียง”(mixerless) หมายถึงการใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อแหล่งเสียงเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วใช้โปรแกรมที่เหมาะสมเพื่อควบคุมการทำงานบนหน้าจอ
และทำให้วิธีการทำงานแบบนี้ใช้เงินลงทุนและอุปกรณ์น้อยอีกทั้งยังเป็นการง่ายสำหรับการเริ่มต้นทำงานผสมเสียงอีกด้วย เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบที่สามคือ เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบดิจิตัล
และแบบที่สี่เป็นการนำเอา เครื่องผสมสัญญาณเสียงแอนะลอกมาทำงานร่วมกับอุปกรณ์เชื่อมต่อแบบดิจิตัล
ที่ในบางครั้งอาจเพิ่มระบบควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อื่นเข้าไปด้วย
การผสมสัญญาณเสียงด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
ก่อนอื่นลองถามตัวเองก่อนว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงมีความจำเป็นแค่ไหน
ซึ่งคำตอบที่ได้รับอาจไม่จำเป็นก็ได้เพราะในปัจจุบันนี้มีผู้ผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบเสียงเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์และมีโปรแกรมควบคุมการทำงานสำหรับผสมสัญญาณเสียงจำนวนมากมายให้เลือกใช้ เพียงแค่ทำการต่อแหล่งกำเนิดเสียงประเภทต่างๆเช่น
ไมโครโฟน เครื่องเล่นสื่อเสียงหรือแหล่งกำเนิดเสียงใดก็ตามเข้ากับอุปกรณ์เชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์
เราก็สามารถควบคุมระดับเสียงหรือเพิ่มเอฟเฟ็คพิเศษได้ตามแต่โปรแกรมนั้นๆจะมีให้ รวมไปถึงการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆทีเชื่อมต่อได้อีกด้วย
แต่การทำงานโดยใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนของสัญญาณเข้าออกโดยทั่วไปแล้วมีช่องทางเข้าแปดช่องและออกแปดช่องเท่านั้น
แต่นี่ก็เพียงพอต่อการใช้สำหรับงานบันทึกเสียงที่ไม่ได้มีอุปกรณ์มากชิ้น
และถ้าการทำงานของคุณเป็นแบบนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องผสมสัญญาณเสียงในระบบเลยเพียงแค่เลือกใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อและการ์ดเสียงที่มีคุณภาพดีๆก็เพียงพอแล้ว
ชนิดของเครื่องผสมสัญญาณเสียง
โดยหลักการแล้วเครื่องผสมสัญญาณเสียงมีเพียงสามชนิดคือ
1) แบบแอนะลอก
2) แบบดิจิตัล
3) แบบแอนะลอกที่มีการเพิ่มช่องต่อสัญญาณแบบยูเอสบีและช่องต่อแบบไฟร์ไวร์(USB
and Firewire interface)
ในกรณีของเครื่องแบบแอนะลอกจะรองรับสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกเท่านั้นและจะไม่ทำการแปลงสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกให้เป็นสัญญาณเสียงแบบดิจิตัล แต่ถ้าเป็นเครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบดิจิตัลแล้วจะยอมรับการเชื่อมต่อได้ทั้งสองรูปแบบ โดยตัวมันจะทำหน้าที่แปลงรูปแบบของสัญญาณชนิดแอนะลอกไปเป็นข้อมูลดิจิตัลทันทีที่ผ่านเข้าไปในเครื่อง
ภายหลังจากผ่านกระบวนการสร้างเอฟเฟ็คและประมวลผลแล้วข้อมูลก็จะผ่านออกมาทางช่องขาออกและยังทำการแปลงกลับให้เป็นสัญญาณชนิดแอนะลอกให้ด้วย
สำหรับเครื่องผสมเสียงแบบแอนะลอกที่มีการเพิ่มช่องต่อสัญญาณแบบยูเอสบีหรือไวร์ไฟร์นั้นมีไว้สำหรับการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลแบบดิจิตัลเช่นเครื่องคอมพิวเตอร์
แต่ภายในเครื่องผสมเสียงเองนั้นเป็นการทำงานด้วยสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกทั้งหมด
ถ้าต้องการใช้งานรูปแบบนี้เราจำเป็นต้องตรวจสอบคุณลักษณะทางเทคนิคให้แน่นอนก่อนว่านำไปเชื่อมต่อกับอะไรสัญญาณแบบไหน
ถ้าหากว่ามีการตั้งคำถามว่าแล้วควรใช้เครื่องผสมสัญญาณประเภทไหนดี
คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณที่มีอยู่และควรใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
คุณภาพของเครื่องผสมสัญญาณเสียง
ลองตั้งคำถามว่าทำไมมิกเซอร์บางเครื่องมีราคาแพงกว่าอีกเครื่อง
ทั้งทีเครื่องราคาถูกกว่ามีลูกเล่นหรือจุดปรับแต่งมากกว่าเครื่องที่แพงกว่าเสียอีกด้วยซ้ำไป
สำหรับเครื่องผสมสัญญาณเสียงแล้วตามปกติหมายถึงว่าจ่ายเท่าไรย่อมได้เท่านั้น และในบางครั้งคุณลักษณะทางเทคนิคของสัญญาณที่มีค่าสูงก็ไม่ได้หมายถึงความแข็งแรงทนทาน
ถ้าต้องการอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายสูงตามด้วยถึงจะได้ความกระทัดรัดและโครงสร้างที่ทนทานเชื่อถือไว้วางใจได้
เนื่องจากเครื่องผสมสัญญาณเสียงมีส่วนของกลไกสำคัญที่ต้องเคลื่อนไหวได้หลายส่วนและมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมาตรฐานการผลิต
ถ้าเราเคาะที่ตัวเครื่องคุณภาพสูงจะพบว่ามักทำจากโครงสร้างโลหะที่แข็งแรง
แต่ถ้าเป็นเครื่องทีราคาถูกแล้วจะแตกต่างกันและมักก่อให้เกิดเสียงรบกวนได้ง่าย เป็นผลให้ต้องระมัดระวังในการใช้งานทำให้ไม่สามารถปรับแต่งเสียงได้มากนักเพราะจะทำให้เกิดเสียงรบกวนได้ง่าย
แต่อย่างไรก็ดีด้วยเทคโนโลยีที่สูงมากขึ้นทำให้ปัจจุบันนี้เครื่องผสมสัญญาณเสียงได้รับการพัฒนามากขึ้นแล้ว
ทำให้ในบางครั้งก็ไม่สามารถระบุความแตกต่างในคุณภาพของเสียงที่มาจากเครื่องที่มีราคาแตกต่างกันหลายเท่าได้
แต่อย่างไรก็ตามเครื่องที่มีราคาถูกเกินไปมักจะมีปัญหาที่ปุ่มปรับและตัวเฟดเดอร์ที่ไม่แข็งแรงทนทานหรืออาจเป็นผลจากมาตรฐานการผลิตที่ไม่ได้ควบคุมคุณภาพให้ดีพอ
ภายในเครื่องผสมสัญญาณเสียงประกอบไปด้วยสายไฟและวงจรที่ซับซ้อนและถ้าหากว่ามีจุดต่อใดๆที่ไม่ดีแล้วย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาและการแก้ปัญหาทำได้ยาก
พึงระลึกไว้ว่าเงื่อนไขการรับประกันและการซ่อมบำรุงย่อมถูกบวกเข้าไปในราคาและคุณภาพของสินค้าด้วย
นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่สำคัญอีกอย่างคือ ภาคขยายเสียงของไมโครโฟน
(microphone preamps)
ที่จะทำหน้าที่ขยายสัญญาณระดับต่ำมากทีออกจากตัวไมโครโฟนให้อยู่ที่ระดับไลน์ (line
level) สำหรับภาคขยายที่มีราคาถูกมักจะเพิ่มสัญญาณรบกวนหรือสิ่งที่ไม่ต้องการเข้าไปด้วย
ในกรณีทำการผสมญญาณเสียงที่เป็นระดับของไลน์ย่อมไม่จำเป็นต้องมีภาคขยายนี้ แต่ถ้าต้องการบันทึกเสียงพูดหรือเครื่องดนตรีที่มาจากไมโครโฟนแล้วเราต้องการวงจรขยายที่ดีมีคุณภาพสูง
และในบางงานที่ต้องการคุณภาพสูงสุดถึงขนาดอาจจำเป็นต้องใช้ภาคขยายเสียงไมโครโฟนโดยเฉพาะแล้วต่อสัญญาณระดับไลน์เข้าสู่เครื่องผสมเสียงอีกทีหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเครื่องผสมเสียงที่มีราคาแพงย่อมให้คุณภาพของภาคขยายเสียงจากไมโครโฟนที่ดีกว่า
ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องผสมสัญญาณเสียง
1) Pan
pot มาจากคำเต็มว่า “panoramic
potentiometer” ใช้ทำหน้าที่กำหนดตำแหน่งของเสียงจากด้านซ้ายไปจนถึงด้านขวาในระบบเสียงแบบสเตอริโอ
2) Mute
/ solo buttons ปุ่มกดเอาไว้สำหรับเลือกที่จะฟังหรือว่าไม่ฟังเสียงของช่องนั้นๆเพียงช่องเดียวแล้วแต่ว่าจะฟังจากลำโพงหรือหูฟังโดยไม่มีผลกระทบกับเสียงช่องอื่นๆ
3) Routing
buttons เป็นสวิทช์เอาไว้เลือกเส้นทางของสัญญาณเสียงว่าต้องการให้สัญญาณผ่านไปออกที่บัสไหน
ตามปกติจะมีสี่หรือแปดบัสขึ้นอยู่กับการออกแบบ
4) Fader
เป็นตัวปรับระดับของสัญญาณที่เลื่อนขึ้นลงตามต้องการของแต่ละช่องมาจากคำว่า”fading
in or fading out”มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือทีตัวเฟดเดอร์จะมีสเกลบอกระดับไว้ที่ประมาณสามในสี่ส่วนว่าเป็นระดับศูนย์วียู
หมายถึงว่าสัญญาณขาออกจะมีระดับเท่ากับสัญญาณขาเข้าแต่ถ้าเลื่อนขึ้นหรือลงก็หมายถึงทำให้สัญญาณมีระดับสูงหรือต่ำกว่าที่เข้ามา
5) Channel
หมายถึงสัญญาณเสียงแต่ละช่องทางที่เข้ามายังแต่ละเฟดเดอร์
และแต่ละแชนเนลอาจมีสวิทช์เอาไว้เลือกชนิดของสัญญาณว่าเป็นไมโครโฟนหรือไลน์ ตามมาด้วยปุ่มปรับระดับของสัญญาณทีเรียกว่า
trim
ต่อมาก็เป็นปุ่มปรับชดเชยความถี่เสียงที่เรียกว่า EQ
(equalization) ที่ตัวแชนเนลจะมีส่วนของการส่งสัญญาณเสียงไปยังอุปกรณ์ทำเอฟเฟ็คหรือว่าอาจส่งไปยังอุปกรณ์ปลายทางอื่นใดก็ได้
ตรงจุดนี้จะเรียกว่า send ลำดับสุดท้ายของแชนเนลเป็นปุ่มกดเลือกเส้นทางของสัญญาณที่เรียกว่า
bus or routing ทำหน้าทีส่งสัญญาณเสียงจากแชนเนลไปยังบัสต่างๆ
6) Bus
หมายถึงเส้นทางของสัญญาณเสียงที่มาจากแต่ละแชนเนลถูกนำมารวมกันที่แต่ละบัสโดยมีตัวเฟดเดอร์ของแต่ละบัสก่อนจะส่งไปยังตัวปรับสัญญาณขาออกปลายทาง
(master fader) หรือว่าจะส่งต่อไปยังอุปกรณ์อื่นๆก็ได้
นอกจากนี้เรายังสามารถป้อนสัญญาณจากบัสกลับเข้าสู่แชนเนลใดๆที่ว่างอยู่ก็ได้
บนเครื่องผสมสัญญาณเสียงที่มีระบบบัสนั้นแต่ละแชนเนลจะมีปุ่มกดให้เลือกส่งสัญญาณไปยังบัสใดๆก็ได้
และจะมีบัสหลักที่เรียกว่า main bus (L / R) ตามปกติแล้วการใช้งานบัสมีไว้เพื่อจัดแยกสัญญาณเสียงจากแหล่งกำเนิดไว้เป็นกลุ่มย่อยหรือในกรณีทีบางแชนเนลจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทำเอฟเฟ็คแตกต่างกัน
หรือในบางกรณีทีต้องการบันทึกเสียงแบบเซอร์ราวด์ก็สามารถทำได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานที่ต้องการ
7) Channel
insert คือการกำหนดเส้นทางของสัญญาณเสียงให้ออกจากตัวแชลเนลไปยังอุปกรณ์อื่นก่อนแล้วย้อนกลับมาเข้าที่ตัวเฟดเดอร์เดิม
เป็นการทำเอฟเฟ็คพิเศษเฉพาะตัวของแชลเนลนั้นๆ เช่นอาจเป็นตัว compressor
, outboard EQ , sound processor หรืออาจต่อไปยังจุดเชื่อมต่อที่เรียกว่า
patch bay เพื่อเอาไว้เชื่อมต่ออุปกรณ์ใดก็ตาม พึงระลึกไว้ว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงสามารถเชื่อมต่อและกำหนดหน้าทีการทำงานได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้
8) Balanced
input and output เครื่องผสมสัญญาณเสียงที่มีจุดต่อแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นชนิดที่เป็น
XLR
หรือ ¼ TRS ก็ตามย่อมทำให้สามารถต่อสายสัญญาณได้ไกลมากขึ้นโดยที่ไม่เกิดเสียงฮัมหรือสัญญาณรบกวน
แต่ถ้าเป็นเครื่องขนิดที่ใช้จุดต่อเข้าออกแบบอันบาลานซ์แล้วจำเป็นต้องใช้สายที่สั้นลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
สำหรับเครื่องผสมสัญญาณที่มีจุดต่อชนิดบาลานซ์นั้นจะสามารถยอมรับการเชื่อมต่อแบบอันบาลานซ์ได้อยู่แล้วดังนั้นถ้าอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อเป็นแบบอันบาลานซ์ก็สามารถนำมาต่อเข้ากับมันได้เลยแต่ไม่สามารถใช้สายยาวมากได้
9) Send
and return หมายถึงเส้นทางของสัญญาณทีส่งออกและนำกลับมายังเครื่องผสมสัญญาณเสียงของแต่ละแชลเนล
โดยแต่ละแชลเนลจะสามารถส่งได้ตั้งแต่สองถึงหกเส้นทางขึ้นอยู๋กับการออกแบบของตัวเครื่องนั้น แต่ละเส้นทางก็มีปุ่มให้ปรับระดับของสัญญาณที่ต้องการส่งไปยังอุปกรณ์อื่นๆ
และด้วยการใช้วิธีการเช่นนี้ทำให้สามารถแยกส่งสัญญาณแต่ละชุดไปยังผู้ทีมีส่วนร่วมในการบันทึกเสียงหรืองานการแสดงสดได้รับฟังเฉพาะสิ่งที่ต้องการฟังได้
หรือในกรณีที่ต้องการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ทำเอฟเฟ็คแล้วย้อนกลับมาเข้าเครื่องผสมสัญญาณเสียงทีจุดต่อของ
return
แล้วนำไปผสมกับแหล่งเสียงอื่นก็สามารถทำได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่ที่การสร้างสรรค์ว่าต้องการทำอะไรกับมัน
ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องนำสัญญาณกลับมาแต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องนำเอาสัญญาณนั้นกลับมาเข้าที่อีกแชลเนลหนึ่งเพื่อทำการปรับแต่งชดเชยความถี่เสียงหรือปรับระดับของสัญญาณด้วยตัวเฟดเดอร์อีกที
นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ return ให้มีหน้าที่เสมือนเป็นช่องทางสัญญาณขาเข้าก็ได้เพื่อเอาไว้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงอื่นๆเช่นเครื่องเล่นซีดี
แผ่นเสียง คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ดังนั้นก่อนทีจะเลือกใช้เครื่องผสมสัญญาณเสียงควรมุ่งเน้นไปที่ว่าสามารถตอบสนองการทำงานของเราได้ทุกด้านหรือไม่
โดยพิจารณาจากจำนวนช่องต่อสัญญาณขาเข้าและออกว่าพอเพียงไหม
จำนวนของบัสที่ต้องการนำไปใช้งานกี่บัส จำเป็นต้องมีจุดเชื่อมต่อแบบไดเร็คเอาท์พุทหรือเปล่า
ตรวจสอบว่ามีจำนวนจุดต่อออกไปและย้อนกลับเท่าใด(send and
return) ต้องการปรีแอมป์สำหรับไมโครโฟนหรือเปล่า
มีระบบจ่ายไฟสำหรับไมโครโฟนแบบคอนเด็นเซอร์ด้วยไหม
ระบบเชื่อมต่อเป็นแบบบาลานซ์หรือว่าอันบาลานซ์ ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่จำเป็นต้องหาข้อยุติก่อนที่จะนำเอาเครื่องผสมสัญญาณเสียงมาติดตั้งใช้งาน
เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบดิจิตัล
การตัดสินใจนำเอาวิธีการผสมเสียงแบบดิจิตัลมาใช้ทำงานนับว่าเป็นเรื่องที่วุ่นวายพอสมควร
เนื่องจากจำเป็นต้องยอมรับกับความยุ่งยากที่จะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้กับอุปกรณ์และคำศัพท์เทคนิคที่อาจไม่คุ้นเคยสำหรับผู้เริ่มต้น
เริ่มตั้งแต่ชุดเมนูคำสั่งที่แยกย่อยออกเป็นสับเมนูหลายระดับ
หน้าทีคำสั่งและการใช้งานของเครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบดิจิตัลที่มีหลากหลายหน้าที่
เช่นการสั่งให้เฟดเดอร์ทำการลดหรือเพิ่มระดับเสียง
การสั่งการให้เพิ่มหรือลดระดับของเอฟเฟ็ค
การส่งสัญญาณออกไปแล้วย้อนกลับเข้ามาที่เฟดเดอร์อีก ทั้งหมดเหล่านี้จำเป็นต้องมีการวางแผนและป้อนคำสั่งเป็นลำดับขั้นตอนการทำงาน
แต่อย่างไรก็ดีการทำงานแบบบันทึกเสียงชนิดมัลติแทรคบนเครื่องผสมสัญญาณเสียงประเภทดิจิตัลสามารถทำได้สะดวกมาก
รวมไปถึงการกำหนดเส้นทางของสัญญาณ การกำหนดเลือกใช้เอฟเฟ็คทีมีให้ภายในเครื่อง
การปรับแต่งชดเชยความถี่เสียงและการใช้อุปกรณ์ซาวด์โปรเซสภายในเครื่องก็สามารถทำการกอปปี้แล้ววางคำสั่งทีเหมือนกันหลายชุดได้สะดวกและรวดเร็วกว่าระบบแอนะลอก
แต่คิดในอีกแง่มุมหนึ่งแล้วการที่เราเลือกใช้ระบบดิจิตัลก็เพราะว่าเราสามารถควบคุมและรักษาเส้นทางของสัญญาณทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบของสัญญาณเสียงดิจิตัลตลอดตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง เนื่องจากในปัจจุบันนี้อุปกรณ์ส่วนใหญ่ในห้องสตูดิโอหรือระบบมัลติมีเดียเป็นการเชื่อมต่อแบบดิจิตัลหมดแล้ว
แม้ว่าในบางครั้งเราอาจจำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์แปลงสัญญาณเสียงจากแอนะลอกเป็นดิจิตัลหรือกลับกันบ้าง
(DA
/ AD conversion) ดังนั้นก่อนอื่นต้องทำการตรวจสอบว่าจำนวนสัญญาณขาเข้าและออกทีเป็นแอนะลอกและชนิดที่เป็นดิจิตัลมีจำนวนเท่าใดเสียก่อนเพราะว่าชนิดและจำนวนของสัญญาณขาเข้าและออกย่อมเป็นปัจจัยสำคัญของราคาสินค้านั้น
การผสมสัญญาณเสียงนับว่ามีส่วนคล้ายกับงานประติมากรรมหรืองานแกะสลักทีต้องใช้มือที่ประณีตบรรจงทำงาน ดังนั้นจึงยังคงมีผู้คนจำนวนมากทีพึงพอใจกับเครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกอยู่
ผู้คนที่เป็นศิลปินเหล่านี้คิดว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบดิจิตัลเป็นเรื่องไม่จำเป็นเพราะว่าทุกอย่างทีมีในเครื่องแบบแอนะลอกก็พอเพียงแล้ว
เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกต่อเชื่อมกับสัญญาณดิจิตัล
วิธีการทำงานแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันเพราะว่าสามารถทำได้ง่ายและเพียงพอต่อการใช้งาน
เพียงแค่นำเอาอุปกรณ์ทีต้องการใช้งานมาเชื่อมต่อ(interface)เข้ากับเครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกแบบเดิมที่คุ้นเคย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการใช้งานแบบไหนและจำนวนของช่องสัญญาณขาเข้าและออกเป็นจำนวนเท่าใด
ข้อดีของวิธีการทำงานแบบนี้คือสามารถปรับแต่งและขยายระบบได้ง่ายกว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงที่เป็นแบบดิจิตัล และยังสามารถให้มันเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่มีจุดต่อเข้าออกแบบดิจิตัลได้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อที่เหมาะสม
ในเครื่องผสมสัญญาณเสียงรุ่นใหม่ๆหลายยี่ห้อจะมีจุดเชื่อมต่อแบบ USB
และหรือแบบ firewire มาให้ด้วยทำให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง
แต่ควรตรวจสอบให้แน่นอนเสียก่อนที่จะนำมาใช้งานเพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าอะไรก็ตามทีเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์แล้วจะมีหลากหลายรุ่นและรูปแบบ
แอนะลอกมิกเซอร์ที่เป็นแบบดั้งเดิม
ถ้าหากคิดว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงที่เป็นแบบแอนะลอกเป็นของเก่าล้าสมัยและไม่ดีแล้วถือว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างมากเลย
มีผู้คนเป็นอันมากที่ยังพึงพอใจกับการเลื่อนเฟดเดอร์และหมุนปุ่มปรับเพื่อให้ได้โทนเสียงอันอบอุ่น
และอาการตอบสนองการทำงานอย่างทันใจด้วยการปรับแต่งเพียงปุ่มสองปุ่ม
มันปราศจากเมนูหรือว่าคำสั่งการทำงานที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน ที่ต้องกระทำก็เพียงแค่เลื่อนเฟดเดอร์และปรับหมุนปุ่มเพื่อควบคุมระดับแรงดันของสัญญาณเสียงที่วิ่งไปตามสายเท่านั้นเอง
วิธีการจัดแบ่งกลุ่มของเครื่องแบบแอนะลอกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือ
หนึ่งตามจำนวนช่องสัญญาณ และสองตามจำนวนของบัสสัญญาณ
ดังนั้นเราจะพบว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงที่มีจำหน่ายส่วนใหญ่เกือบทุกยีห้อและรุ่นจะเป็นหมายเลขที่บ่งบอกข้อมูลดังกล่าว
ตัวอย่างเช่นถ้าเขียนว่า 32-8 ก็หมายความว่ามีช่องต่อสัญญาณขาเข้าจำนวน
28 ช่องและมีจำนวนของบัส 8 บัส
และในบางรุ่นก็จะมีตัวเลขชุดที่สามติดมาด้วยซึ่งเป็นการระบุถึงจำนวนช่องสัญญาณขาออกหลัก
(master output) ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการจัดหานำมาใช้งานเราจำเป็นต้องศึกษาคุณลักษณะทางเทคนิคให้ละเอียดเสียก่อน
ประเภทของแอนะลอกมิกเซอร์
1) ประเภทมีแปดบัสสัญญาณ
ถ้างานที่ต้องการบันทึกเสียงวงดนตรีทั้งวงในห้องสตูดิโอจำเป็นต้องใช้ไมโครโฟนเป็นจำนวนมากและในขณะบันทึกยังต้องฟังเสียงไปพร้อมกันด้วย
ในกรณีเช่นนี้เราจำเป็นต้องส่งเสียงเป็นมอนิเตอร์ไปยังทีมงานทุกคนอีกด้วย
เครื่องผสมสัญญาณเสียงที่มีจำนวนบัสแปดบัสจะเหมาะสมต่องานประเภทนี้ที่สุด
สำหรับจำนวนของช่องต่อสัญญาณขาเข้าขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณและความเหมาะสม
อาจเริ่มต้นจากจำนวนช่องที่มี 24 – 48 ช่องสัญญาณ
2) ประเภทที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับสัญญาณดิจิตัล
เครื่องผสมสัญญาณเสียงชนิดนี้ภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้แตกต่างจากเครื่องชนิดแอนะลอกทั่วไปแต่จะมีจุดเชื่อมต่อประเภทยูเอสบีหรือไฟร์ไวร์เข้ากับอุปกรณ์แบบ
DAW
(digital audio workstation) มาให้ด้วย
การเชื่อมต่อที่ว่านี้มีตั้งแต่แบบพื้นฐานทั่วไปจำนวนสองช่องสัญญาณไปจนระบบใหญ่ๆทีมีจำนวนหลายช่องสัญญาณทั้งเข้าและออกจากตัวเครื่อง
3) ประเภทมีสี่บัสสัญญาณ
หมายถึงตัวเครื่องแบบนี้มีเส้นทางของสัญญาณให้เลือกเพียงสี่กลุ่มย่อย
(sub
or group outs) นอกจากนี้ก็ยังมีสัญญาณขาออกหลัก (main or
program outs) และอีกอย่างคือสัญญาณเสียงสำหรับห้องควบคุม (control
room outs) ระบบเลือกช่องทางของบัสสัญญาณเอื้อประโยชน์สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก
นอกจากตัวบัสแล้วเรายังสามารถใช้ช่องทางอื่นทีมีอีกเช่นช่องไดเร็คเอาท์ ช่อง insert
and send ให้เลือกใช้อีกด้วย
4) ประเภท
2+2
บัสสัญญาณ สำหรับการทำงานที่ไม่ซับซ้อนหรือมีการบันทึกเสียงจากแหล่งสัญญาณเสียงไม่มากนัก
เครื่องแบบที่มีกลุ่มบัสย่อยเพียงสองช่องบวกกับช่องโปรแกรมหลักอีกสองช่องก็พอเพียงแล้ว
เครื่องประเภทนี้มักมีช่องสัญญาณขาเข้าไม่มากนักตั้งแต่ 4
– 12 ช่อง
5) ประเภทสเตอริโอมิกเซอร์
เครื่องแบบนี้เป็นประเภทที่ไม่มีบัสย่อยให้มีเพียงช่องทางของสัญญาณขาออกหลักสองช่องแบบสเตอริโอซ้ายขวา
(L+R)
เท่านั้น
อย่างไรก็ดีมันสามารถปรับแต่งผสมเสียงสัญญาณขาเข้าและปรับแต่งสัญญาณขาออกได้ระดับหนึ่ง
6) ประเภทติดตั้งอยู่บนตู้แรค
เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบนี้มักมีขนาดเล็กกะทัดรัดที่ไม่ค่อยมีจุดให้ปรับแต่งเสียงได้มากนักและมีช่องสัญญาณขาเข้าจำนวน
4
– 8 ช่อง ส่วนใหญ่ใช้ทำงานในระบบเสียงย่อยๆหรืองานชนิดที่ไม่จำเป็นต้องปรับกันบ่อย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น