เครื่องผสมสัญญาณเสียง(Audio Mixer)
          ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ควรทราบก่อนที่จะเลือกเครื่องผสมสัญญาณเสียงเพื่อนำมาใช้งานใช้งาน และหวังว่าผู้ที่อ่านบทความนี้แล้วสามารถทำความเข้าใจพอที่จะตัดสินว่าอุปกรณ์ชนิดไหนที่ตอบสนองตรงต่อความต้องการและนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การทำความเข้าใจกับเครื่องผสมสัญญาณเสียงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก  เนื่องจากว่าตัวมันเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทางเสียงและยังทำหน้าที่ใช้ควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเสียงแทบทั้งหมด
เครื่องผสมสัญญาณเสียงทำหน้าที่อะไร
          เครื่องมิกเซอร์หรือแผงควบคุมการผสมเสียงหรือแผงคอนโซลมีความหมายเดียวกัน  เป็นอุปกรณ์ที่ยอมให้เราสามารถปรับแต่ง  กำหนดตำแหน่ง  ทำเอฟเฟ็คและชดเชยระดับเสียงแตกต่างกันจากหลายๆแหล่งเพื่อให้ได้รับคุณภาพเสียงโดยรวมออกมาดีที่สุด และทั้งหมดนี้เรียกว่าการผสมเสียง เราสามารถเพิ่มเอฟเฟ็คบางอย่างเข้าไปในบางช่องทางของแหล่งเสียงแต่ไม่ใช่ทุกช่องทาง  ปรับตำแหน่งเสียงของเครื่องดนตรีบางชิ้นในระบบเสียงแบบสเตอริโอ กำหนดเส้นทางให้กับสัญญาณเสียงขาออกไปยังอุปกรณ์ปลายทาง หรือทำการปรับเสียงทุ้มแหลมของแต่ละช่องทางสัญญาณขาเข้าและขาออก หรืออาจใช้งานเพื่อการบันทึกเสียงแบบแยกช่องการบันทึกหลายช่องพร้อมกันที่เรียกว่า multi track
          ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วย่อมเห็นได้ว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงทำหน้าทีเป็นศูนย์กลางของอุปกรณ์ในระบบเสียงทั้งหมด แต่ทว่าถ้าเรามาดูที่ตัวผลิตภัณฑ์เครื่องผสมเสียงในตลาดแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องผสมเสียงที่ผลิตออกมาจำหน่ายจะแบ่งเป็นสี่ประเภทด้วยกันคือ เครื่องผสมเสียงแบบแอนะลอก เครื่องประเภทนี้สัญญาณเสียงที่ขาเข้าจะถูกนำมารวมกันแล้วส่งต่อไปยังอุปกรณ์ปลายทาง แบบที่สองอาจจะเรียกได้ว่าแบบไม่ต้องใช้เครื่องผสมเสียงหมายถึงการใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อแหล่งเสียงเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วใช้โปรแกรมที่เหมาะสมเพื่อควบคุมการทำงานบนหน้าจอ และทำให้วิธีการทำงานแบบนี้ใช้เงินลงทุนและอุปกรณ์น้อยอีกทั้งยังเป็นการง่ายสำหรับการเริ่มต้นทำงานผสมเสียงอีกด้วย  เครื่องผสมสัญญาณเสียงแบบที่สามคือ เครื่องผสมเสียงแบบดิจิตัล และแบบที่สี่เป็นการนำเอา เครื่องผสมเสียงมาทำงานร่วมกับอุปกรณ์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ที่ในบางครั้งอาจเพิ่มอุปกรณ์ควบคุมการทำงานอุปกรณ์อื่นเข้าไปด้วย
การผสมเสียงด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
          ก่อนอื่นลองถามตัวเองก่อนว่าเครื่องผสมสัญญาณเสียงมีความจำเป็นแค่ไหน ซึ่งคำตอบที่ได้รับอาจไม่ก็ได้เพราะในปัจจุบันนี้มีผู้ผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบเสียงเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์และมีโปรแกรมควบคุมการทำงานจำนวนมากมายให้เลือกใช้  เพียงแค่ต่อแหล่งกำเนิดเสียงประเภทต่างๆเช่น ไมโครโฟน เครื่องเล่นสื่อเสียงหรือแหล่งกำเนิดเสียงใดก็ตามเข้ากับอุปกรณ์เชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์ เราก็สามารถควบคุมระดับเสียงหรือเพิ่มเอฟเฟ็คพิเศษได้ตามแต่โปรแกรมนั้นๆ รวมไปถึงการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆทีเชื่อมต่อได้อีกด้วย แต่การทำงานโดยใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนของสัญญาณเข้าออกโดยทั่วไปมีช่องทางเข้าแปดช่องและออกแปดช่องเท่านั้น  แต่นี่ก็เพียงพอต่อการใช้สำหรับงานบันทึกเสียงที่ไม่ได้มีอุปกรณ์มากชิ้น และถ้าการทำงานของคุณเป็นแบบนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องผสมสัญญาณเสียงในระบบเลยเพียงแค่เลือกใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อและการ์ดเสียงที่มีคุณภาพก็เพียงพอแล้ว
ประเภทของเครื่องผสมสัญญาณเสียง
          โดยหลักการแล้วเครื่องผสมสัญญาณเสียงมีเพียงสามประเภทคือ
1)      แบบแอนะลอก
2)      แบบดิจิตัล
3)      แบบแอนะลอกที่มีการเพิ่มช่องต่อสัญญาณแบบยูเอสบีและช่องต่อแบบไฟร์ไวร์(USB and Firewire interface)
ในกรณีของเครื่องแบบแอนะลอกจะรองรับสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกเท่านั้นและระไม่มีการแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณแบบดิจิตัล  แต่ถ้าเป็นเครื่องผสมแบบดิจิตัลแล้วจะยอมรับการเชื่อมต่อได้ทั้งสองชนิด  โดยตัวมันจะทำหน้าที่แปลงรูปแบบของสัญญาณชนิดแอนะลอกไปเป็นข้อมูลดิจิตัลทันทีที่ผ่านเข้าไปในเครื่อง ภายหลังจากผ่านกระบวนการสร้างเอฟเฟ็คและประมวลผลแล้วข้อมูลก็จะผ่านออกมาทางช่องขาออกและยังทำการแปลงกลับให้เป็นสัญญาณชนิดแอนะลอกให้ด้วย สำหรับเครื่องผสมเสียงแบบแอนะลอกที่มีการเพิ่มช่องต่อสัญญาณแบบยูเอสบีหรือไวร์ไฟร์นั้นมีไว้สำหรับการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลแบบดิจิตัลเช่นเครื่องคอมพิวเตอร์  แต่ภายในเครื่องผสมเสียงเองนั้นเป็นการทำงานด้วยสัญญาณเสียงแบบแอนะลอกทั้งหมด ถ้าต้องการใช้งานรูปแบบนี้เราจำเป็นต้องตรวจสอบคุณลักษณะทางเทคนิคให้แน่นอนก่อนว่านำไปเชื่อมต่อกับอะไรสัญญาณแบบไหน  ถ้าหากว่ามีการตั้งคำถามว่าแล้วควรใช้เครื่องผสมสัญญาณประเภทไหนดี คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณที่มีอยู่และควรใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
คุณภาพของเครื่องผสมสัญญาณเสียง
          ลองตั้งคำถามว่าทำไมบางเครื่องมีราคาแพงกว่าอีกเครื่อง ทั้งทีเครื่องราคาถูกกว่ามีลูกเล่นหรือจุดปรับแต่งน้อยกว่าเสียอีกด้วยซ้ำไป สำหรับเครื่องผสมสัญญาณเสียงแล้วตามปกติหมายถึงว่าจ่ายเท่าไรย่อมได้เท่านั้น  และในบางครั้งคุณลักษณะทางเทคนิคก็ไท่ได้หมายถึงความแข็งแรงทนทาน ถ้าต้องการอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายสูงตามด้วยถึงจะได้ความกระทัดรัดและโครงสร้างที่ทนทานเชื่อถือไว้วางใจได้
เนื่องจากเครื่องผสมสัญญาณเสียงมีส่วนของกลไกที่ต้องเคลื่อนไหวได้ ถ้าเราเคาะที่ตัวเครื่องคุณภาพสูงจะพบว่าทำจากโครงสร้างโลหะที่แข็งแรง แต่ถ้าเป็นเครื่องทีราคาถูกแล้วจะแตกต่างกันและมักก่อให้เกิดเสียงรบกวนได้ง่ายเป็นผลให้ต้องระมัดระวังในการใช้งานทำให้ไม่สามารถปรับแต่งเสียงได้มากนักเพราะจะทำให้เกิดเสียงรบกวนได้ง่าย
          แต่อย่างไรก็ดีด้วยเทคโนโลยีที่มากขึ้นทำให้ปัจจุบันนี้เครื่องผสมสัญญาณได้รับการพัฒนามากขึ้นแล้ว ทำให้ในบางครั้งก็ไม่สามารถระบุความแตกต่างในคุณภาพของเสียงที่มาจากเครื่องที่มีราคาต่างหลายเท่าได้ แต่อย่างไรก็ตามเครื่องที่มีราคาถูกเกินไปมักจะมีปัญหาที่ปุ่มปรับและตัวเฟดเดอร์ที่ไม่แข็งแรงทนทานหรืออาจเกิดจากการผลิตที่ไม่ได้ควบคุมคุณภาพให้ดีพอ ภายในเครื่องผสมสัญญาณเสียงประกอบไปด้วยสายไฟและวงจรที่ซับซ้อนและถ้าหากว่ามีจุดต่อใดๆที่ไม่ดีแล้วย่อมทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยาก เงื่อนไขการรับประกันและการซ่อมบำรุงย่อมถูกบวกเข้าไปในราคาและคุณภาพของสินค้าด้วย
          นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่สำคัญอีกอย่างคือ ภาคขยายเสียงไมโครโฟน (microphone preamps) ที่จะทำหน้าที่ขยายสัญญาณระดับต่ำมากทีออกจากตัวไมโครโฟนให้อยู่ที่ระดับไลน์ (line level) สำหรับภาคขยายที่มีราคาถูกมักจะเพิ่มสัญญาณรบกวนหรือสิ่งที่ไม่ต้องการเข้าไปด้วย ในกรณีทำการผสมสัญญาณเสียงที่เป็นระดับของไลน์ย่อมไม่จำเป็นต้องมีภาคขยายนี้แต่ถ้าต้องการบันทึกเสียงพูดหรือเครื่องดนตรีที่มาจากไมโครโฟนแล้วเราต้องการวงจรขยายที่ดีมีคุณภาพสูง และในบางงานที่ต้องการคุณภาพสูงสุดถึงขนาดต้องใช้ภาคขยายเสียงไมโครโฟนโดยเฉพาะและต่อสัญญาณระดับไลน์เข้าสู่เครื่องผสมเสียงอีกทีหนึ่ง เพราะฉนั้นเครื่องผสมเสียงที่มีราคาแพงย่อมให้คุณภาพของภาคขยายเสียงจากไมโครโฟนที่ดีกว่า
คราวหน้าจะเป็นเรื่องการทำงานและหน้าที่ของปุ่มปรับต่างๆครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การถ่ายทอดสดนอกสถานที่(Outside Broadcasting)

ห้องผลิตรายการโทรทัศน์และฉากเสมือนจริง (TV studio and Virtual studio)