แรงบันดาลใจของช่างเทคนิค


     ต้นเดือนสิงหาคมของปี 1994 ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมในสถาบันการศึกษาของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประเทศญี่ปุ่น (NHK Communication Training Center) โดยได้รับทุนจากความร่วมมือของหน่วยงานไจก้า (Japan International Co-operation Agency) โดยหลักสูตรที่เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิศวกรรมวิทยุกระจายเสียงเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน  อันที่จริงทั้งสถาบันฝึกอบรมและเจ้าของทุนผู้ให้การสนับสนุนนั้นผมค่อนข้างจะคุ้นเคยมาก่อนแล้ว เพราะว่าก่อนหน้านั้นในปี 1990 ผมเองเคยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิศวกรรมวิทยุโทรทัศน์มาแล้ว  แต่ที่ทำความอึดอัดและรู้สึกหงุดหงิดอยู่บ้างคือในครั้งก่อนหน้านั้นมีคนไทยทั้งหมดจำนวนห้าคนร่วมอบรมหลักสูตรเดียวกัน แต่ทว่าในการเข้ารับการฝึกอบรมในปี 1994 นั้น   ข้าพเจ้าเป็นชาวเอเชียเพียงคนเดียวท่ามกลางผู้เข้าอบรมกว่าครึ่งที่เป็นชาวอาฟริกา  รองลงมาเป็นชาวทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้รวมไปถึงส่วนน้อยที่มาจากทวีปยุโรปตะวันออก  สรุปได้ว่าทั้งหมดมาจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น
      ในอาทิตย์แรกของการอบรมเป็นไปแบบน่าเบื่อหน่ายเพราะยังไม่คุ้นเคยกันดีจนกระทั่งได้ไปจับกลุ่มกับพวกที่มาจากอเมริกากลางซึ่งแต่แรกก็เกือบจะมีเรื่องกันเพราะว่าคู่สนทนาเกิดหูฝาดได้ยินว่าเรียกคนดำแต่ภายหลังจากหมดเบียร์ไปหลายกระป๋องก็แทบกอดคอกันเลย  มีอยู่คนที่สนิทกันมากเป็นวิศวกรที่มาจากหมู่เกาะเซเชลส์ (ประเทศนี้มีของแปลกอย่างนึงคือมะพร้าวแฝดที่มีผลเหมือนก้นสตรี)         หมอนี่มันขี้คุยแถมยังเจ้าชู้ประเภทเจอสาวจะขอหอมแก้มท่าเดียว     แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าอึดอัดใจมากกว่าคือไม่มีโอกาสได้คุยกับคนไทยด้วยกันเลย      ก่อนอื่นขออนุญาตเล่าถึงสถานที่พักเพื่อให้เข้าใจสภาพแวดล้อมก่อน   คือในหอพักแห่งนี้มีที่ตั้งอยู่ชานเมืองโตเกียวแต่ไม่ใกลจากตัวเมืองมากนักนั่งรถไฟไม่กี่ป้ายจะถึงย่านชินจูกุแล้ว    ในหอพักแห่งนี้สามารถจุผู้อาศัยที่เป็นผู้เข้ามาฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆจากทั่วโลกได้นับร้อยคนครับ  สมัยครั้งก่อนที่ไปพักอาศัยในปี 1990 เป็นเวลาสองเดือนกว่านั้นคนไทยกับคนอินโดนีเซียแทบจะแย่งพื้นที่ในห้องล้อบบี้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์กันเลยทีเดียว       หลังจากทนอยู่แบบเบื่อหน่ายและหงอยๆได้ไม่กี่วัน     ข้าพเจ้าเกิดมีแนวคิดที่จะพบปะคนไทยด้วยการสอบถามเจ้าหน้าที่คนญี่ปุ่นที่ดูแลห้องพักว่ามีคนไทยพักกี่คนและอยู่ห้องไหนบ้าง    ภายหลังจากได้ข้อมูลจึงฝากจดหมายตัวโตๆเขียนด้วยลายมือไปว่าขอเชิญคนไทยทุกท่านมาร่วมดื่มถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระราชินีนาถ      พอถึงวันนัดหมายปรากฎว่าคนไทยที่พักอยู่ที่นั่นประมาณสามสิบคนได้มาร่วมดื่มกินและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีกันอย่างพร้อมเพรียง   ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจากที่คนไทยต่างคนต่างอยู่ก็มีเรื่องพบปะสังสรรค์กันมากขึ้น     คนไทยกลุ่มที่ว่านี้มาจากต่างสาขาอาชีพ ไม่ว่าเป็นหมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ เกษตรกร แล้วแต่ว่าจะถูกเชิญมาเข้ารับการอบรมในสาขาใด   มีคนนึงมาจากกรมป่าไม้สนิทกันมากเพราะคุยกันถูกคอขนาดกลับมาเมืองไทยไปพบกันที่ต่างจังหวัดพวกพาตระเวณราตรีทั้งคืน    ส่วนอีกคนตรงกันข้ามท่าทางเรียนเก่งเรียบร้อยแต่งตัวเนี้ยบมาอบรมเรื่องที่เกี่ยวข้องในหน้าที่การงานอะไรสักอย่าง    เค้าบอกว่าทำหน้าที่เป็นเลขาหน้าห้องอธิบดีกรมใหญ่มากในกระทรวงมะหาดไทย     ที่สนิทกันเพราะข้าพเจ้าคุ้นเคยกับการเดินทางในโตเกียวจนพาไปซอกแซกได้ขนาดวันที่จะเดินทางกลับยังมาอ้อนวอนให้พาไปหาซื้อหนังสือผู้ใหญ่ (สมัยนั้นนับว่าเป็นของมีค่าที่คนไปต่างประเทศนิยมหาซื้อติดมือมาฝากกันเลย)  ซึ่งเรื่องของนายคนนี้จะมีปรากฎอีกครั้งในตอนท้ายๆ
       ช่วงปลายหลักสูตรการฝึกอบรมได้เกิดเรื่องตึงเครียดในชั้นเรียนขึ้นเนื่องจากวันนั้นผู้ฝึกสอนได้เปิดโอกาสให้มีการซักถามในเรื่องของอุปกรณ์และเทคโนโลยีดิจิตอล  ซึ่งคำถามของข้าพเจ้านั้นผู้ฝึกสอนไม่สามารถหาคำตอบจนเป็นที่พอใจของผู้เข้าอบรมเกือบทั้งห้องถึงขนาดต้องยืนคารวะขอโทษกันตัวงอเลยทีเดียว   เย็นวันนั้นขณะนั่งดื่มเบียร์ที่หอพักเจ้าวิศวกรที่มาจากเกาะเซเชลส์ได้ถามข้าพเจ้าว่าในนามบัตรและข้อมูลที่แจกในกลุ่มข้าพเจ้าระบุตำแหน่งว่าเป็นช่างเทคนิค   แต่ทำไมคุณตั้งคำถามลึกซึ้งจนเกินความคาดหมายเช่นนั้น   ข้าพเจ้าจึงเล่าให้หมอนั่นฟังว่าอันที่จริงได้จบการศึกษาระดับปริญญาเท่ากับคุณ   แต่เนื่องจากในหน่วยงานไม่มีตำแหน่งว่างบรรจุให้ตามวุฒิได้   ไอ้หมอนั่นมันซักต่อว่าทำไมไม่หางานที่ดีกว่าล่ะซึ่งข้าพเจ้าได้ตอบแบบท่องจำมาว่าเป็นการอุทิศตัวเพื่อสังคมและการศึกษาแบบนกแก้วนกขุนทองแต่ทว่าในใจตอนนั้นฟุ้งซ่านมากมายเลย    และบังเอฺญเหลือเกินถัดมาไม่กี่วันสถานฑูตไทยในโตเกียวแจ้งมายังเหล่าคนไทยกลุ่มที่พักที่นั่นทั้งหมดให้ไปต้อนรับคณะของนายกรัฐมนตรีจากประเทศไทยที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในช่วงนั้นพอดี   โดยระบุว่าให้ไปร่วมตั้งแถวโบกธงต้อนรับที่ทำเนียบตอนบ่ายและร่วมงานเลี้ยงต้อนรับของสถานฑูตไทยตอนเย็น   พวกเราตื่นเต้นกันมากมายเพราะโอกาสแบบนี้ไม่ได้มาง่ายๆ   โดยเฉพาะสาวแก่แม่ยกทั้งหลายที่ทราบดีว่าคุณอภิสิทธ์ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหนุุ่มหล่อสมัยนั้นเดินทางมาด้วย (สมัยนั้นผู้หญิงที่ผมรู้จักหลายคนพกรูปคุณอภิสิทธ์ในกระเป๋าสตางค์ครับ)
       ช่วงบ่ายเสร็จพิธีตั้งแถวต้อนรับที่ทำเนียบเพื่อนหน้าจืดเด็กเรียนที่บอกว่าเป็นเลขาหน้าห้องอธิบดีลากผมให้พาไปซื้อกล้องถ่ายรูปแถวชินจูกุ   สมัยนั้นยังใช้กล้องฟิลม์กันไอ้หมอนี่นอกจากเส้นดีแล้วยังรวยอีกเค้าเลือกเอากล้องรุ่นใหม่ทันสมัยและแพงมากในยุคนั้นแถมยังบอกกับผมว่าคืนนี้พี่ไม่ต้องเอากล้องตัวเองไปใช้กล้องผมนี่แหละเปิดซิงกันวันแรกเลย   ตกเย็นพวกเราทั้งกลุ่มพยายามแต่งตัวด้วยชุดที่ดีที่สุดโดยเฉพาะพวกผู้หญิงแทบจะไปประกวดกันเลยทั้งที่ด้วยฐานะอันต่ำต้อยเป็นเพียงตัวแทนนักศึกษาคนไทยในต่างแดนเท่านั้น    กลุ่มพวกเราไปรวมกันอยู่ตำแหน่งแทบท้ายสุดชองงานพูดคุยกันเองเพราะว่าไม่รู้จักคนอื่นๆนอกจากพวกที่มาด้วยกันเท่านั้น    และเหมือนการทดสอบลองใจของเทวดาฟ้าดินอะไรก็สุดแท้สายตาของข้าพเจ้าสังเกตุเห็นนักธุรกิจด้านโทรคมดาวรุ่งพุ่งแรงในสมัยนั้สองคนยืนคุยกันอยู่โดยลำพังที่ริมผนังด้านหนึ่ง     คนหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเทเลคอมเอเชียที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่วนอีกท่านหนึ่งทำธุรกิจด้านการสื่อสารและดาวเทียมโดยที่ภายในไม่กี่ปีให้หลังเข้ามาเล่นการเมืองจนกระทั่งก้าวขึ้นสู่ผู้นำสูงสุดได้ในระยะเวลาอันสั้น                 (ใช่แล้วครับคนที่กำลังลี้ภัยไปต่างประเทศในเวลานี้แหละ)   ในช่วงเวลาที่ว่านี้คนอื่่นต่างจับจ้องไปที่ท่านอดีตนายกชวนกับท่านอภิสิทธ์กันโดยไม่มีคนสนใจนักธุรกิจสองท่านที่ว่าซึ่งในสมัยนั้นทั้งสองคงติดตามคณะรัฐมนตรีมาในฐานะนักธุรกิจเท่านั้นยังไม่ได้ลงเล่นการเมืองด้วยมั้ง    สมองข้าพเจ้าทำงานอย่างด่วนจี๋ว่าจะเข้าไปทำความรู้จักของานทำได้ด้วยวิธีใด   หันรีหันขวางตัดสินใจไม่ได้สุดท้ายขอความคิดเห็นจากผู้ที่เคารพนับถือในกลุ่มที่ไปด้วยกัน   ข้าพเจ้าจำชื่อท่านไม่ได้จริงๆ บุคคลท่านนี้เรียกกันสั้นๆว่าพี่หมอเพราะแกเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในชนบทแถวภาคอีสาน    เล่าเหตุผลและความต้องการที่จะเปลี่ยนงานใหม่ให้แกฟัง  แกพูดสั้นๆไม่กี่คำโดยบอกว่  "งานราชการค่าตอบแทนมันน้อยก็จริงแต่จำเป็นต้องมีคนทำถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำเล่า" ระหว่างที่ข้าพเจ้ากำลังทำความเข้าใจสิ่งที่แกพูดอยู่นั้น พี่หมอได้ล้วงกระเป๋าใส่เงินหยิบเอาธนบัตรเงินไทยที่แกมีติดตัวอยู่ชูให้ดูตรงหน้า พร้อมกับพูดต่ออีกว่า "อย่าคิดว่าทำงานเพื่อตนเองแต่ขอให้คิดว่าทำเพื่อคนที่มีรูปอยู่ในธนบัตรใบนี้" ตอนนั้นผมยอมรับว่าตัดสินใจไม่ถูกแต่ดูเหมือนสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะว่ากลุ่มของนายกรัฐมนตรีเดินใกล้เข้ามาแล้ว    สุดท้ายตัดสินใจเข้าข้างตัวเองว่าอย่างน้อยไปยืนถ่ายภาพคู่กับนายกรัฐมนตรีไปอวดชาวบ้านได้แค่นี้ก็นับว่าไกลเกินฝันแล้วนะเนี่ย   คืนนั้นเพื่อนหน้าจืดใช้กล้องถ่ายรูปราคาแพงทันสมัยที่สุดถ่ยจนหมดม้วน    ภายหลังเอาไปล้างปรากฎว่าเสียทั้งม้วนเพราะว่าปรับค่าตั้งโหมดผิด   ความรู้สึกข้าพเจ้าตอนนั้นคงไม่ผิดจากนิท่านอีสปเรื่องหมาเห็นเงาในน้ำแหละ
     เวลาผ่านไปยี่สิบกว่าปีแล้วผมไม่ได้พบเพื่อนกลุ่มนั้นอีกเลย   สมัยนั้นไม่มีไลน์ เฟซบุ้ค แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือเหมือนปัจจุบัน   ส่วนมากแค่แลกนามบัตรกันกลับถึงบ้านมัดใส่ถุงไว้หายหมดแล้ว        ถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบพี่หมออีกครั้งจะบอกแกว่าพี่เป็นคนแรกที่พูดแบบนี้กับผมให้รู้จักเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมไม่ใช่คิดถึงแค่ตัวเองเท่านั้น   ยี่สิบกว่าปีผ่านไปผมยังคงทำงานในตำแหน่งช่างเทคนิคเหมือนเดิมแต่ที่เพิ่มเติมคือตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ปฏิบัตหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของราชการตามวิชาความรู้ที่มีอย่างเต็มกำลัง และถึงแม้เงินค่าตอบแทนที่ได้รับเพียงเศษเสี้ยวของการทำงานกับภาคเอกชน แต่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงและผมมีความภาคภูมิใจว่าที่ผ่านมาได้ทำคุณประโชน์ให้กับสังคมและส่วนรวมตามคำแนะนำของพี่ครับ
      ด้วยจิตรคารวะครับพี่หมอ

ความคิดเห็น

  1. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ..

    ตอบลบ
  2. อ่านแล้วก็ภาคภูมิใจในอาชีพสายนี้ครับ และดีกว่านั้นได้ฟังจากท่านผู้เขียนเล่าสดๆด้วย ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Automation solution

การถ่ายทอดสดนอกสถานที่(Outside Broadcasting)

การจัดแสงไฟสำหรับการถ่ายวิดีโอ (Video Lighting Technique)